อธิวัฒน์ ไตรพิพิธสิริวัฒน์ และ นิธิพัฒน์ เจียรกุล
สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
27 เมษายน 2564
การใช้ออกซิเจนอัตราไหลสูง (high-flow nasal cannula; HFNC) เป็นการรักษาที่สามารถช่วยลดอัตราการใส่ท่อช่วยหายใจ ในผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลวจากภาวะพร่องออกซิเจนได้ อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกของการระบาดของโรคต COVID-19 การใช้ HFNC มีข้อกังวลเรื่องการแพร่กระจายของละอองฝอยขนาดเล็ก (aerosols) ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายต่อบุคคลากรที่ดูแลผู้ป่วย รวมไปถึงการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม และถูกจัดไว้เป็นหนึ่งใน การรักษาที่ทำให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็กได้มาก (high aerosols generating procedures; AGP) และแนะนำให้ใช้ในสถานที่ที่เป็น airborne infection isolation room (AIIR) เท่านั้น
ข้อมูลในระยะหลังพบว่า การใช้ HFNC ที่ผลิตขึ้นมาในรุ่นใหม่ๆ นี้ ไม่ได้มีการแพร่กระจายของ aerosols อย่างที่กังวลในช่วงแรก โดยมีการศึกษาหลายการศึกษาทั้งในหุ่นทดลอง (manikin) และ อาสาสมัคร
Hui et al (1) ทำการศึกษาในหุ่นทดลองที่ใช้ HFNC อัตราไหล 10-60 ลิตรต่อนาที โดยวัดการกระจายของอากาศที่หายใจออก (exhaled air dispersion) โดยใช้ laser visualized method พบระยะการกระจายอยู่ที่เฉลี่ย 17.2 ± 3.3 ซม. ที่อัตราไหล 60 ลิตรต่อนาที ซึ่งน้อยกว่าการใช้ continuous positive airway pressure (CPAP) และ ถึงแม้บริเวณจมูกจะมีการรั่วอยู่แต่การกระจายสูงสุดอยู่ที่ 62 ซม.
ส่วน Roberts et al (2) ทำการศึกษาในอาสาสมัคร พบว่าการใช้ HFNC ไม่ได้เพิ่มปริมาณ aerosols เทียบกับการหายใจปกติ โดยเมื่อใช้อัตราไหลที่ 60 ลิตรต่อนาที ปริมาณ aerosols มีเพียง 10% เมื่อเทียบกับการพ่นลมออกทางจมูกอย่างแรง (snorting) และ นอกจากนั้นยังมีผู้รวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่กระจายของละอองฝอยในการบำบัดด้วยออกซิเจนประเภทต่าง ๆ พบว่า การใช้ HFNC มีการกระจายของละอองฝอยใกล้เคียงกับ simple mask, non-rebreathing mask และ venturi mask(3)
ในคำแนะนำล่าสุดของ ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคประเทศสหรัฐอเมริกา (US. CDC) ลดระดับของ HFNC จาก aerosol-generating procedure เป็น potential aerosols-generating procedure(4) ดังนั้นการใช้ HFNC อาจจะสามารถพิจารณาเป็นทางเลือกเพื่อนำมาปรับใช้ใน modified cohort ward ได้ ร่วมกับ การใช้ airborne protection สำหรับบุคลากรที่เข้าไปดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด และให้ใช้ surgical mask ปิดทับส่วน cannula ถ้าผู้ป่วยขณะใช้ HFNC มีอาการไอหรือจามบ่อยๆ
เอกสารอ้างอิง
- Hui DS, Chow BK, Lo T, Tsang OTY, Ko FW, Ng SS, et al. Exhaled air dispersion during high-flow nasal cannula therapy versus CPAP via different masks. Eur Respir J. 2019;53(4).
- Sally Roberts NK, Cjt Spence, Jane O’Donnell, Z. Zulkhairi Abidin, R. Dougherty, S. Roberts, Y. Jiang and Mc Jermy. Nasal high-flow therapy and dispersion of nasal aerosols in an experimental setting. Journal of Critical Care. 2015;30(4):1.
- Li J, Fink JB, Ehrmann S. High-flow nasal cannula for COVID-19 patients: low risk of bio-aerosol dispersion. Eur Respir J. 2020;55(5).
- COVID-19 Treatment Guidelines Panel. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) Treatment Guidelines. National Institutes of Health. Available at https://www.covid19treatmentguidelines.nih.gov/. Accessed [24 Apr 2021].