ข้อเสนอแนะการปรับค่า AQI ของ PM2.5 ในประเทศไทย

สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
1 ตุลาคม 2562
สืบเนื่องจากปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตามข้อมูลการตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนกันยายน 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติของปี 2559-2561 ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้
- ประชาชนกลุ่มเสี่ยงเกิดการกำเริบของโรคพื้นฐาน เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ โรคหืด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจขาดเลือด และ โรคสมองขาดเลือด เป็นต้น และเยาวชนเสี่ยงต่อการเกิดสมรรถภาพปอดถดถอยในระยะยาว
- ประชาชนทั่วไปเกิดอาการระคายเคือง เยื่อบุนัยน์ตา เยื่อบุจมูก เจ็บและระคายคอ
วิธีการปกป้องสุขภาพประชาขนกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่ในระยะแรกที่มีการเพิ่มขึ้นของระดับ PM2.5 จนเริ่มมีผลต่อการกำเริบของโรคพื้นฐาน หรือเป็นอันตรายต่อสมรรถภาพปอดของเยาวชนในระยะยาว สามารถทำได้ด้วยการปรับระดับเตือนภัยและมาตรการที่เกี่ยวข้อง ดังข้อมูลการศึกษาเชิงระบาดวิทยาระยะยาวนาน 30 ปีจากประเทศสหรัฐอเมริกา และเทียบเคียงพร้อมเพิ่มเติมผลจากข้อมูลของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ตามเอกสารอ่านเพิ่มเติม (Ambient Particulate Air Pollution and Daily Mortality in 652 Cities. N Engl J Med 2019; 381:705-715)
เมื่อเปรียบเทียบค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (air quality index, AQI) ตามปริมาณ PM2.5 ที่วัดได้เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง (หน่วยเป็น ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, µg/m3) ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่แนะนำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 ของประเทศไทยตามคำแนะนำของกรมควบคุมมลพิษ และของประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำแนะนำของหน่วยงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (US environmental protection agency, EPA) พร้อมคำแนะนำสำหรับประชาชน มีรายละเอียด ดังนี้
WHO 2549 | PM2.5 | Thai AQI | US EPA AQI |
---|---|---|---|
เป้าหมายปี 2573 | 25 | 0-25 ใช้ชีวิตได้ตามปกติ | - |
ระยะเปลี่ยนผ่านที่ 3 | 37.5 | 26-50 ใช้ชีวิตได้ตามปกติ | 51-100 เฝ้าระวัง |
ระยะเปลี่ยนผ่านที่ 2 | 50 | 51-100 กลุ่มเสี่ยงลดกิจกรรมกลางแจ้งถ้ามีอาการ | 101-150 (PM2.5 38-65) กลุ่มเสี่ยงลดกิจกรรมกลางแจ้ง |
ระยะเปลี่ยนผ่านที่ 1 | 75 | - | 151-200 (PM2.5 66-150) กลุ่มเสี่ยงลดกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดกิจกรรมกลางแจ้ง |
- | 90 | 101-200 กลุ่มเสี่ยงลดกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดกิจกรรมกลางแจ้งถ้ามีอาการ | - |
- | >90 | >200 ทุกคนหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง | 201-300 (PM2.5 151-250) กลุ่มเสี่ยงงดกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง >300 (PM2.5 >250) ทุกคนงดกิจกรรมกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยงควรมีที่หลบภัย |
โดยเสนอให้ปรับแก้ไขให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการเฝ้าระวังและรับการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะแรก และลดโอกาสผลกระทบต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อคนทั่วไป ซึ่งจะให้ความสำคัญกับระดับปริมาณ PM2.5 ระหว่าง 50-75 µg/m3 ซึ่งจะเพิ่มอัตราตายขึ้นอย่างชัดเจนในประชาชนทั้งหมด ตามข้อมูลในรูปที่สรุปรวมจากหลายประเทศในเอกสารอ่านเพิ่มเติม

ข้อเสนอการปรับดัชนีคุณภาพอากาศพร้อมคำแนะนำสำหรับประชาชนไทย
PM2.5 | ดัชนีคุณภาพอากาศ | คำแนะนำสำหรับประชาชน |
---|---|---|
0-25 | 0-50 | ใช้ชีวิตได้ตามปกติ |
26-40 | 51-100 | เฝ้าระวัง |
41-75 | 101-150 | กลุ่มเสี่ยงลดกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปป้องกันตนเองเมื่ออยู่กลางแจ้ง |
76-150 | 151-200 | กลุ่มเสี่ยงเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดกิจกรรมกลางแจ้ง |
151-250 | 201-300 | กลุ่มเสี่ยงงดกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง |
>250 | >300 | ทุกคนงดกิจกรรมกลางแจ้ง จัดหาที่หลบภัยให้กับกลุ่มเสี่ยง |
Leave a comment