มาตรการรับมือ PM2.5 “ภัยร้ายตัวจิ๋ว”

รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
PM2.5 คืออนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซต่าง ๆ เนื่องจาก “เจ้าตัวจิ๋ว” นี้มีขนาดเล็ก แต่เมื่อแผ่รวมกันแล้วจะมีพื้นที่ผิวรวมกันมากมหาศาล ทำให้มันสามารถนำพาสารต่าง ๆ ล่องลอยในบรรยากาศรอบตัวเราได้ในปริมาณสูง เกิดเป็นหมอกควันที่เป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์
แหล่งกำเนิดสำคัญของ PM2.5 คือ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงธรรมชาติรวมถึงวัสดุอื่น และฝุ่นจากการก่อสร้าง ถ้ามีการผลิตมากขึ้นและฟุ้งกระจายออกไปได้น้อยลงเช่นในช่วงเดือนธันวาคมถึงมีนาคมของทุกปี ช่วงวันที่อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเร็วร่วมกับความชื้นสูงและลมอับ เจ้าตัวจิ๋วจะวนเวียนอยู่มากในช่วงกลางคืน แล้วค่อย ๆ จางหายไปเมื่อพระอาทิตย์ทำงานส่องสว่างเต็มที่
เนื่องจากขนาดที่เล็กของเจ้าตัวจิ๋ว เมื่อมันถูกมนุษย์สูดผ่านรวมเข้ากับลมหายใจ จึงลงไปได้ลึกถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของเราได้ ทำให้เกิดการระคายเคืองและการอักเสบตามมา ด้วยคุณสมบัติที่เล็กมากจนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางส่วนของมันจึงเล็ดรอดผ่านผนังถุงลมและไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต จนกระจายแทรกซึมไปทั่วร่างกาย ทำให้เกิดผลร้ายเฉพาะหน้าที่สำคัญ 3 ประการคือ
- อาการกำเริบของโรคระบบการหายใจ ได้แก่โรคจมูกอักเสบ ภูมิแพ้ โรคหืด และโรคถุงลมโป่งพอง
- อาการกำเริบของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง เรื้อรังอาการกำเริบโดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ทำให้เด็กและผู้สูงอายุมีการเจ็บป่วยด้วยโรคระบบการหายใจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปอดอักเสบ
นอกจากนี้ในระยะยาวในส่งผลให้สมรรถภาพการทำงานของปอดถดถอย จนอาจทำให้เกิดโรคถุงลมโป่งพองแม้จะไม่สูบบุหรี่ และอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เพิ่มขึ้น
ในช่วงที่ค่า PM2.5 ในอากาศอยู่ในระดับเตือนภัย คือ เกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรหรือที่ใช้เป็นสัญลักษณ์สีส้ม แดง ม่วง จนถึงน้ำตาลแดง ควรเลือด ลด ละ หรือแม้แต่ต้องเลิกกิจกรรมกลางแจ้งหรือการเดินทางไปในที่สาธารณะ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ให้ใส่หน้ากากพิเศษชนิดที่เรียกว่า “เอ็นเก้าสิบห้า”โดยต้องสวมให้ถูกต้องอย่างกระชับกับรูปหน้า ดังรูปที่ 1-6






เมื่อสามารถเลือกใส่หน้ากากที่เหมาะสมและใส่อย่างถูกวิธี ก็จะช่วยทำให้เราสามารถปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยอันตรายของเจ้าตัวจิ๋วในช่วงเวลาที่มลพิษทางอากาศสะสมในปริมาณมาก ๆ ได้
Leave a comment