แนะนำอุปกรณ์สูดยาชนิดแอคคิวเฮเลอร์ (Accuhaler)

นพ.สันติ สิลัยรัตน์
สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตระบบการหายใจ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล
โรคของหลอดลมเช่นโรคหืด (asthma) และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังเป็นโรคเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease) ที่จำเป็นต้องใช้ยาต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน การใช้ยารักษาในรูปของการสูดเข้าสู่ทางเดินหายใจหรือ inhaler therapy นั้นจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากเนื่องจากวิธีนี้สามารถทำให้ได้รับยาโดยตรงในบริเวณที่ต้องการได้ทันที และยังสามารถใช้ยาในขนาดที่ต่ำกว่ามากจึงช่วยลดอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์บางชนิดที่สำคัญได้
อย่างไรก็ตามเนื่องจากการใช้ยาชนิดสูดนั้น จำเป็นต้องใช้ผ่านอุปกรณ์สูดยา (inhaler device) ซึ่งในปัจจุบันมีอยู่หลายรูปแบบ ทำให้บ่อยครั้งผู้ป่วยหรือผู้ใช้เกิดความสับสนว่าใช้อย่างไร และกลายเป็นอุปสรรคของการใช้ยาให้ได้ผลดีเต็มที่ ผู้ป่วยจึงควรทำความคุ้นเคยและรู้จักวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด ตัวอย่างของอุปกรณ์ที่หยิบยกมาแนะนำให้รู้จักกันในวันนี้คือ อุปกรณ์สูดยาชนิดแอคคิวเฮเลอร์ (accuhaler)
อุปกรณ์แอคคิวเฮเลอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการบรรจุยาชนิดที่เป็นผงแห้ง (dry powder) ที่จะอยู่ในช่องสูดสำหรับให้ผู้ป่วยสูดยาเข้าสู่ปอดด้วยตนเองโดยไม่มีสารที่ช่วยดันยาให้ฟุ้งเป็นฝอยในอากาศ (propellant) บรรจุมาด้วย ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ป่วยจะต้องออกแรงสูดหายใจผ่านอุปกรณ์ชนิดนี้แรงมากพอที่จะทำให้ยาเคลื่อนออกจากช่องสูด แต่อุปกรณ์นี้มีข้อดีคือ แรงที่ต้องใช้ในการสูดยานั้นไม่มากนัก และผู้ป่วยสามารถสูดยาตามจังหวะที่ตนเองพร้อมโดยไม่ต้องกะจังหวะระหว่างการกดกระบอกยาและการสูดยาเหมือนกับการใช้อุปกรณ์ชนิดที่เป็นสเปรย์ที่เรียกว่า metered dose inhaler (MDI)
ส่วนประกอบต่าง ๆ ของอุปกรณ์แอคคิวเฮเลอร์
ขั้นตอนการใช้อุปกรณ์สูดยาชนิดแอคคิวเฮเลอร์
1. เปิดฝาปิดตลับยา โดยใช้มือซ้ายจับฝาปิดไว้แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือขวาวางบนช่องวางนิ้ว แล้วผลักไปข้างหน้าจนสุด
2. กดปุ่มโหลดยา โดยใช้นิ้วหัวแม่มือผลักปุ่มยาไปจนสุดระยะ และได้ยินเสียงดัง “คลิ๊ก”
3. หายใจออกจนสุด ให้ลมที่อยู่ในปอดเหลือน้อยที่สุด เพื่อให้มีแรงสูดยามากและได้ยาเต็มที่
4. สูดยาผ่านช่องสูด โดยให้ริมฝีปากแนบสนิทกับช่องสำหรับสูด และสูดหายใจลึกให้อากาศเข้าปอดเต็มที่
5. กลั้นหายใจ หลังจากสูดเต็มที่แล้ว ให้กลั้นหายใจไว้ 10 วินาที เพื่อให้ยากระจายทั่วถึง แล้วหายใจออกช้า ๆ
6. ปิดฝาครอบ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือวางบนช่องวางนิ้วแล้วผลักเข้าหาตัวจนฝาปิดสนิทและได้ยินเสียง “คลิ๊ก”
ข้อควรปฏิบัติเมื่อใช้อุปกรณ์แอคคิวเฮเลอร์
ก่อนการใช้อุปกรณ์
- ควรตรวจสอบวันหมดอายุบนตลับยา (EXP ตามด้วย วัน-เดือน-ปี ค.ศ.) และจำนวนยาที่ยังคงเหลืออยู่ในช่องสูดยา ก่อนใช้ยาทุกครั้ง หากพ้นวันหมดอายุ หรือจำนวนยาคงเหลือเท่ากับ 0 ให้เปลี่ยนตลับยา
- ควรทบทวนวิธีการใช้ยา และฝึกสูดยาให้มั่นใจได้ว่ามีแรงสูดยามากเพียงพอ โดยใช้อุปกรณ์ฝึกและทดสอบแรงสูดยา
หลังการใช้อุปกรณ์
ต้องกลั้วคอและบ้วนปากหลังการใช้ยาทุกครั้ง หากเป็นไปได้ควรใช้ยานี้ก่อนการแปรงฟันในตอนเช้้าและก่อนนอน เพื่อจะได้บ้วนปากไปในคราวเดียว
สิ่งสำคัญที่ควรจดจำ
ยาในอุปกรณ์แอคคิวเฮเลอร์ เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรค ดังนั้นเพื่อให้ผลการรักษาดีที่สุด จึงควรใช้ยานี้เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และใช้ยาในขนาดที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไม่ควรปรับยาเอง
Leave a comment