OSA มหันตภัยยามราตรี

รองศาสตราจารย์นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล
สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
การวินิจฉัยและผลเสียของโรค
Obstructive sleep apnea (OSA) หรือ โรคหยุดหายใจขณะหลับเหตุอุดกั้น เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนอ้วนและคนสูงอายุ คือ โรคที่มีการตรวจพบในห้องปฏิบัติการการนอนหลับว่ามีดัชนีการหยุดหายใจเกิน 5 ครั้ง/ชั่วโมง สามารถแบ่งความรุนแรงได้เป็น 3 ระดับ
การตรวจการนอนหลับในห้องตรวจของโรงพยาบาล มีการติดเครื่องมือติดตามการนอนขณะที่หยุดหายใจจะมีระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง และระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น ซึ่งจะไปกระตุ้นศูนย์การหายใจในสมองและทำให้สมองตื่นก่อนกำหนด ทำให้เกิดการนอนหลับไม่สนิท จนนำมาสู่ง่วงนอนมากในตอนกลางวัน รวมไปถึงการสูญเสียสมาธิ และประสิทธิภาพการประกอบกิจวัตรต่ำลง ในรายที่มีปัญหาการง่วงนอนมาก ทำให้เกิดการหลับในช่วงเวลาที่ไม่ควรหลับ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์หรืออุบัติเหตุในระหว่างการทำงานได้สูงขึ้น

สรุปผลตรวจการนอนหลับทั้งคืน (hypnogram) ที่พบมีระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงและสมองถูกกระตุ้นให้ตื่นก่อนกำหนดในระหว่างการนอน
นอกจากนี้ผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดก็มีความสำคัญ โดยจะพบภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วยได้ถึงร้อยละ 50 และในระหว่างที่หยุดหายใจจะเกิดการเต้นผิดจังหวะของหัวใจได้ง่าย ในผู้ป่วยที่มีโรงหลอดเลือดหัวใจอยู่ก่อนอาจส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย นอกจากนั้นโรคนี้ยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
การรักษา
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการแก้ไขความผิดปกติในระหว่างการนอนหลับและลดอาการตอนกลางวันของผู้ป่วย เพื่อมุ่งหวังให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น แนวทางการรักษาในผู้ป่วยแต่ละราย คณะแพทย์จะพิจารณาปรับให้เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของผู้ป่วย ซึ่งประกอบด้วย
- การปรับปรุงพฤติกรรมเสี่ยง ได้แก่
- การลดน้ำหนักตัวสำหรับผู้ป่วยที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ด้วยการควบคุมอาหารและการออกกำลังกาย
- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาหนอนหลับ หรือยาอื่นที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงนอน
- ในระหว่างการนอนถ้ารู้ตัวให้พยายามนอนในท่าตะแคง
- งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงควันหรือกลิ่นต่างๆ ที่ระคายจมูก
- ปฏิบัติตามสุขภาวะการนอน (ภาคผนวก)
การปรับปรุงพฤติกรรมเสี่ยงมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานในการควบคุมโรคนี้ของผู้ป่วย จึงต้องยึดถือและปฏิบัติให้สม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
- การรักษาโดยใช้อุปกรณ์สร้างแรงดันบวกในทางเดินอากาศต่อเนื่อง (continuous positive airway pressure, CPAP) ในขณะเข้านอน เป็นการรักษาที่เลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีระดับความรุนแรงของโรคปานกลางถึงมากหรือตามข้อบ่งชี้ของแพทย์ ปัจจุบันถือเป็นการรักษาที่ได้ผลดีที่สุด อุปกรณ์ประกอบด้วยตัวเครื่องสร้างแรงดัน สายต่อจากตัวเครื่อง หน้ากากสำหรับสวมเข้ากับใบหน้า และ สายยึดหน้ากาก

ผู้ป่วยโรค OSA ขณะทดลองใช้เครื่อง CPAP
โดยทั่วไปแพทย์จะทดสอบหาระดับแรงดันที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายในระหว่างการตรวจการนอนหลับ จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยทดลองใช้อุปกรณ์นี้ที่บ้านเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์ก่อนให้ผู้ป่วยพิจารณาตัดสินใจเลือกซื้อเครื่องและอุปกรณ์ประกอบ ในระหว่างช่วงทดลองใช้อุปกรณ์ ผู้ป่วยและคู่สมรสหรือผู้ใกล้ชิดอื่นจะต้องช่วยสังเกตว่าการกรน การหยุดหายใจ หรือ การหายใจเฮือกระหว่างนอน ยังคงมีอยู่หรือไม่ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงหลังตื่นนอนและความรู้สึกตื่นตัวเวลากลางวัน
เมื่อตัดสินใจใช้อุปกรณ์นี้ต่อเนื่องในระยะยาวแล้ว มีข้อแนะนำ คือ
- สังเกตการตอบสนองต่อเนื่องเช่นเดียวกับช่วงทดลองใช้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงให้แจ้งแพทย์เมื่อมาตรวจตามนัด
- พยายามใช้อุปกรณ์ให้มากที่สุดของการนอนในแต่ละคืน และใช้ทุกครั้งที่เข้านอน
- ไม่ปรับเปลี่ยนแรงดันด้วยตัวเองโดยไม่แจ้งให้แพทย์ทราบ
- ตรวจสอบปลั๊กไฟสำหรับใช้งานกับอุปกรณ์และระบบไฟที่บ้าน เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่ออุปกรณ์
- เมื่อเลิกใช้งานให้เก็บส่วนประกอบต่างๆ ของอุปกรณ์ให้เรียบร้อย ใช้สำลีหรือผ้าสะอาดชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดบริเวณหน้ากาก ถ้ามีคราบไขมันให้เช็ดด้วยน้ำสบู่เจือจางก่อน ไม่ใช้แอลกอฮอล์หรือน้ำยาทำความสะอาด สายต่อจากตัวเครื่องเข้าไปที่หน้ากากให้ถอดแช่น้ำสบู่และล้างให้สะอาดสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ส่วนการทำความสะอาดสายยึดหน้ากากให้ทำตามคำแนะนำในคู่มือประกอบอุปกรณ์
- หลังตื่นนอนในตอนเช้า อาจมีอาการแสบจมูก จมูกแห้ง แสบหรือเจ็บคอ แสบหรือเจ็บบริเวณที่ครอบหน้ากาก ถ้ามีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ ในการใช้อุปกรณ์วันต่อๆ ไป ให้รีบติดต่อแพทย์
- การรักษาทางเลือกอื่นๆ
แพทย์จะพิจารณาเมื่อไม่สามารถใช้เครื่อง CPAP ได้ หรือเมื่อมีข้อบ่งชี้อื่น การรักษาเหล่านี้ ได้แก่
- การผ่าตัดบริเวณจมูกและคอหอย
- การผ่าตัดบริเวณขากรรไกรบนและล่าง
- การใช้อุปกรณ์ยึดฟันและเลื่อนขากรรไกรในระหว่างการนอน
บทส่งท้าย
โรค OSA นับเป็นมหันตภัยที่มาเยือนเราขณะที่เรากำลังอยากจะพักผ่อนในยามกลางคืน โรคนี้พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในคนยุคปัจจุบันที่มีปัญหาโรคอ้วนและโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หากท่านมีอาการกรนดังอยู่เป็นประจำ หรือมีการหายใจสะดุดหรือติดขัดขณะหลับบ่อยๆ หรือมีอาการง่วงนอนมากตอนกลางวันโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคเดิมอยู่ก่อน ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด และสมองขาดเลือด
ภาคผนวก
สุขบัญญัติการนอน 12 ประการ
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนเข้านอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลมบางชนิด ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ก่อนเข้านอน
- หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหักโหมก่อนเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มจนอิ่มท้องมากก่อนเข้านอน
- กำหนดเวลานอนในแต่ละคืนให้เพียงพอกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล โดยเฉลี่ยคือ 6-8 ชั่วโมง กำหนดเวลาเข้านอนและเวลาตื่นนอนให้เป็นเวลา โดยในแต่ละคืนไม่ควรห่างกันเกิน 1 ชั่วโมง และ ปฏิบัติทั้งในวันธรรมดาและวันหยุดเช่นเดียวกัน
- จัดสภาพแวดล้อมในห้องนอนให้เหมาะสม ทั้งความสบายของอุปกรณ์การนอน อุณหภูมิ แสง และเสียงต่างๆ ทั้งในห้องและรอบๆ ห้องนอน
- จัดให้หน้าปัทม์นาฬิกาทุกเรือนอยู่นอกสายตาเมื่อตื่นมากลางดึก
- พึงระลึกเสมอว่าเตียงนอนมีไว้สำหรับกิจกรรมการนอนและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรใช้เตียงนอนเป็นที่ทำงาน
- ก่อนเข้านอนอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง หากิจกรรมทำที่ผ่อนคลายสมอง ได้แก่ อ่านหนังสือที่ชอบ ฟังเพลงหรือดูรายการทีวีที่ไม่เครียด อาบน้ำอุ่น ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ
- เมื่อจะหลับตานอนให้คิดถึงแต่สิ่งที่รื่นรมย์ในวันที่ผ่านมา และคิดถึงสิ่งดีๆ ที่อยากจะทำในวันรุ่งขึ้น
- ถ้าต้องตื่นนอนขึ้นมากลางดึก หลีกเลี่ยงการเปิดแสงสว่างจนจ้ามาก การพยายามทำใจจดจ่อเพื่อให้กลับไปหลับ รวมทั้งการสูบบุหรี่หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- เมื่อตื่นนอนตามเวลาที่กำหนด ควรรีบลุกจากเตียง และประกอบกิจวัตรประจำวันที่ทำให้สดชื่น ช่วงสายควรอยู่ในที่ที่มีแสงสว่างตามธรรมชาติส่องถึงหรือแสงสว่างจากแหล่งอื่นเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการงีบหลับตอนบ่ายยกเว้นว่าง่วงนอนมากจนอาจเกิดอันตรายหรือเกิดผลเสียต่องาน ออกกำลังกายตามความเหมาะสมในช่วงเย็น
Leave a comment