ขอเชิญแพทย์เข้าร่วมโครงการ “ขจัดวัณโรคร้ายจากหัวหิน น้อมรำลึกมหาราชันย์ภูมิพล”

โครงการ
ขจัดวัณโรคร้ายจากหัวหิน น้อมรำลึกมหาราชันย์ภูมิพล
ElimiNation of Drastic TB in Hua Hin to Commemorate The great king Bhumibol (END-TB-TB)
หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันวัณโรคยังคงเป็นโรคติดเชื้อสำคัญที่คุกคามประชาชนไทยและประชากรโลก จนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศยุทธศาสตร์ “หยุดยั้งวัณโรค” ให้ได้ในปี พ.ศ. 2578 และใน “วันวัณโรคสากล” 24 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้กำหนดเป็นคำขวัญคือ “WANTED: LEADERS FOR A TB-FREE WORLD (You can make history. End TB)”
ในโอกาสที่สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มาจัดประชุมวิชาการกลางปีที่หัวหิน อันเป็นหนึ่งในสถานที่รักยิ่งขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 องค์พระผู้อุปถัมภ์สมาคมฯ จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้นในระหว่างวันที่ 23-25 สิงหาคม 2561
หน่วยงานที่รับผิดชอบ
- สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
- สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
- โรงพยาบาลหัวหิน
- โรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน
- สโมสรโรตารีหัวหิน
กิจกรรม
ทำการตรวจคัดกรองเพื่อหาผู้ที่กำลังเป็นวัณโรคแต่ยังไม่ได้รับการดูแลรักษา ในประชากรกลุ่มเสี่ยงจำนวน 999 คน จัดตั้งเป็นหน่วยแพทย์เคลื่อนที่โดยไม่คิดค่าบริการใด ๆ ทั้งสิ้น โดยดำเนินการ ดังนี้
- ขอความยินยอมเข้าร่วมโครงการและบันทึกข้อมูลพื้นฐานทางการแพทย์
- ตรวจร่างกายขั้นต้นโดยแพทย์
- ถ่ายภาพเอกซเรย์ปอดระบบดิจิตัล โดยใช้รถเคลื่อนที่ 2 คัน ด้วยความร่วมมือจากสำนักวัณโรค
- แจ้งผลการตรวจทั้งหมดให้ผู้เข้าร่วมโครงการรับทราบโดยแพทย์
- ในกรณีไม่พบความผิดปกติและไม่มีการเจ็บป่วยอื่นประเภทเฉียบพลัน จะให้คำแนะนำด้านสุขภาพทั่วไปโดยเฉพาะสุขภาพระบบการหายใจ หากมีการเจ็บป่วยอื่นประเภทเฉียบพลัน จะให้การดูแลรักษาตามความเหมาะสม ถ้าเกินขีดความสามารถของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ จะทำการส่งต่อให้โรงพยาบาลหัวหิน หรือโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน เพื่อทำการตรวจรักษาตามสิทธิ์การรักษาของผู้ป่วยต่อไป
- ในกรณีพบความผิดปกติสงสัยวัณโรคปอด ประสานงานเพื่อเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมที่โรงพยาบาลหัวหิน หรือโรงพยาบาลกรุงเทพหัวหิน ถ้าพบเป็นวัณโรคจะได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องจนหายขาดตามสิทธิ์ฯ ครอบคลุมถึงการค้นหาผู้สัมผัสโรคเพื่อควบคุมการแพร่กระจาย
- ในกรณีพบความผิดปกติอย่างอื่น ให้คำแนะนำตามมาตรฐานการแพทย์สำหรับความผิดปกตินั้น ๆ
บุคลากร
หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ที่ออกบริการ 2 แห่งพร้อมกัน ปฏิบัติงานเป็นผลัดเช้าและผลัดบ่าย ในแต่ละผลัดประกอบด้วย
- แพทย์ 10 คน
- ผู้ช่วยแพทย์ 15 คน (พยาบาล เภสัชกร และบุคลากรอื่น)
- เจ้าหน้าที่เอกซเรย์ 1 คนพร้อมพนักงานขับรถ 1 คน
- เจ้าหน้าที่ประสานงานและธุรการ 2-4 คน
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับการค้นหาวัณโรคในระยะต้นและได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสม
- ลดการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในชุมชน
- เป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการหยุดยั้งวัณโรคในประเทศไทย
- ข้อมูลที่รวบรวมได้สามารถนำไปใช้เป็นผลงานวิจัยที่ตั้งต้นจากงานบริการ (routine to research) ของหน่วยงานที่เข้าร่วม เพื่อเผยแพร่ในแวดวงวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ “แผนงานควบคุมวัณโรคแห่งชาติ”
ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้โดยกรอกข้อมูลผ่านทาง link ที่นี่
Leave a comment